วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

กระพี้จั่น

กระพี้จั่น

   

ชื่อพื้นเมือง       จั่น พี้จั่น ปี้จั่น
ชื่อวิทยาศาสตร์  Milettia brandisiana Kurz
ชื่อวงศ์              LEGUMINOSAE-PAPILIONOIDEAE
นิเวศวิทยาและการกระจายพันธุ์     ในประเทศ  ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณแล้ง
     ในต่างประเทศ  พม่า
ลักษณะทั่วไป     ต้นไม้  ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูง 8-15 เมตร ผลัดใบ แต่ผลิใบใหม่เร็ว เปลือกนอกค่อนข้างเรียบ สีเทาอมน้ำตาลแตกเป็นสะเก็ดเล็ก ๆ เปลือกในสีแดง เรือนยอดกลมรี ๆ พุ่มใบหนาทึบ
     ใบ  ใบประกอบแบบขนนก ปลายคี่ เรียงสลับ ใบย่อย 6-8 คู่ เรียงตรงข้าม ใบย่อยรูปขอบขนาน กว้าง 0.8-1.7 ซม. ยาว 2.5-7 ซม. ก้านใบย่อย 2 มม. ที่ฐานใบมีหูใบย่อย ตาใบมีขนสีทองแดงปกคลุม ปลายใบแหลม โคนใบมน ขอบใบเรียบ เส้นแขนงใบข้างละ 6-10 เส้น ก้านใบย่อยยาว 2-3 มม.
     ดอก  ดอกออกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนงตามปลายกิ่งและเหนือรอยแผลใบ ช่อยาว 7-22 ซม. กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันคล้ายรูประฆัง ปลายแยกเป็น 5 แฉก สีม่วงดำ กลีบดอก 5 กลีบ เกสรเพศผู้ 10 อัน ดอกบานเต็มที่กว้าง 0.8-1 ซม. ดอกคล้ายดอกถั่วสีม่วงแกมขาว
     ผล  ผลเป็นฝักรูปดาบ หรือขอบขนานปลายแหลม ขอบฝักเป็นเส้นหนาแข็ง ฝักแก่สีน้ำตาล แกมเหลือง กว้าง 2-2.5 ซม. ยาว 10-14 ซม. เมล็ดกลมแบน 1-3 เมล็ด
     ระยะเวลาการออกดอกและเป็นผล          ออกดอก  มี.ค.-เม.ย.
          ผลแก่  มิ.ย.-ก.ค.
     การขยายพันธุ์  เพาะกล้าจากเมล็ดได้ง่าย ๆ
การใช้ประโยชน์     ด้านเป็นไม้ประดับ  ในผืนป่าหน้าแล้ง กระพี้จั่นจะทิ้งใบหมดต้น แล้วผลิช่อดอกออกมาเต็มต้น สีม่วงอมครามกระจ่างไปทั้งต้น เป็นความสวยหวานอยู่กลางฤดูกลาลที่แห้งแล้ง ใบไม้โดยรอบปลิดปลิวลงหมดสิ้น ดอกกระพี้จั่นจึงเป็นราชินีที่โดดเด่น นิยมเพาะกล้าแจกเพื่อปลูกเป็นไม้ประดับ แต่เมื่อปลูกแล้วรดน้ำมากความชุ่มชื้นสูง การผลัดใบจึงไม่เด่นชัด ดอกสีม่วงครามจึงแฝงเงาอยู่ในใบสีเขียวสวยไปอีกมิติหนึ่ง ใช้พื้นที่ปลูกไม่มาก 2x2 เมตร ปลูกง่าย และเติบโตเร็ว เมื่อแตกใบอ่อนจะมีสีแดงสนิมเหล็กพลิ้วไสวสวยงามจับใจเมื่อกระทบกับแสงแดดยามเช้า
     ด้านสมุนไพร  สรรพคุณ          ยาพื้นบ้านอีสานใช้ลำต้นต้มดื่มบำรุงเลือด